กลยุทธ์การเอาท์ซอร์สในอุตสาหกรรมการผลิต

กลยุทธ์การเอาท์ซอร์สในอุตสาหกรรมการผลิต

ปัจจุบันในยุคของไอซีทีที่กำลังมาแรง ได้สร้างกระแสการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต

การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ของการผลิต สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากบริษัทชั้นนำในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ถ้าจะมองย้อนหลังไปในช่วงปี 2538 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก ได้มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning, ERP) อย่างแพร่หลาย สำหรับในประเทศไทยเรานั้น ส่วนมากมักจะเริ่มต้นโดยการใช้ระบบ EDI (Electronics Data Interchange) และต่อยอดออกมาเป็นระบบบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) จนกระทั่งการใช้เว็บแอพพิเคชัน

Electronic Data Interchange หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EDI ได้มีส่วนช่วยในการแบ่งปันข้อมูลทางธุรกิจสำหรับคู่ค้า ในระบบซัพพลายเชนมามากกว่า 25 ปี โดยการนำ EDI มาใช้นี้ บริษัทสามารถส่งและรับข้อมูลต่างๆ อย่างปลอดภัย ในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ผ่านทางวงจรเช่าส่วนบุคคล (Private leased-line) ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า Value-added Networks หรือ (VANs) โดยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีในการใช้ EDI มาช่วยในการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวโน้มของการใช้งาน ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ในขณะที่ทางเลือกใหม่ ในการส่งผ่านข้อมูลผ่านทางเว็บแอพพิเคชัน รวมถึงประโยชน์ในการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความคล่องตัว ทำให้เราไม่สามารถที่จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป

EDI ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการส่งผ่านข้อมูลด้วยความปลอดภัย จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพียงอย่างเดียว และตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็สามารถทำงานได้ค่อนข้างดีพอสมควร โดยรูปแบบมาตรฐานที่นิยมนำมาใช้ก็คือ บริษัทสามารถส่งข้อมูลเกี่ยวกับใบสั่งซื้อสินค้า และข้อมูลสินค้าคงคลัง ให้กับคู่ค้าที่อยู่ในระบบซัพพลายเชน ตลอดจนข้อมูลด้านการ เรียกเก็บ และการชำระค่าสินค้า ได้ผ่านทางวงจรเช่าส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามระบบ EDI ก็ยังมีข้อด้อยที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดี ในเรื่องของความยุ่งยากในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น สององค์กรที่จะส่งผ่าน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้น ต้องมีการระบุรูปแบบของข้อมูลชนิดต่างๆ ที่จะมีการแลกเปลี่ยนกัน และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบในการเพิ่มรายชื่อร้านค้า หรือปรับเปลี่ยนรายการข้อมูลสินค้า ในระบบ EDI ก็จะต้องใช้เวลานาน และมีความยุ่งยากอย่างมากสำหรับผู้ออกแบบ และพัฒนาแอพพิเคชันในการปรับเปลี่ยนให้มีการใช้งานได้ใหม่

ระบบ EDI โดยพื้นฐานแล้ว เป็นระบบที่ไม่มีความคล่องตัวสำหรับการปรับเปลี่ยน และการขยายขอบเขตการใช้งาน และที่สำคัญก็คือ มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างมากอีกด้วย ซึ่งค่าบริการในการส่งผ่านข้อมูลแต่ละครั้ง ที่บริษัทจะถูกเรียกเก็บโดยผู้ให้บริการ Value-added Networks ในการใช้งานเครือข่ายส่วนตัว ที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (Proprietary Network) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ในช่วง 600 ถึง 1,500 บาทต่อเมกะไบท์ของข้อมูลที่ได้มีการส่งรับกัน ทั้งนี้ ถ้าบริษัทมีการส่งข้อมูลจำนวนมาก ให้กับคู่ค้าหลายรายที่ต่อเชื่อมอยู่ในเครือข่ายนี้แล้วละก็ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่าย ในการทำ EDI นี้เป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทในแต่ละปีเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทสามารถจัดการให้มีการส่งรับ และแบ่งปันข้อมูล โดยใช้ Extensible Markup Language หรือ ภาษา XML ได้แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ทางบริษัทแทบที่จะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อเครือข่าย ขององค์กรสู่อินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะส่งผ่านข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ และการที่บริษัท สามารถแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้นั้น จะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยการใช้ภาษา XML ซึ่งเป็นภาษามาตรฐานในการแปลงข้อมูล เพื่อที่จะส่งผ่านระบบต่างๆ ในเพื่อที่จะให้มีการสื่อสารระหว่างแอพพิเคชันได้ บริษัทสามารถส่งรับข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ในขณะที่การใช้ EDI มีข้อจำกัดในการส่งแบบจุดต่อจุดเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นภาษา XML สามารถเอื้อประโยชน์ต่างๆ ได้มากกว่าเดิม เช่น บริษัทและคู่ค้าสามารถแบ่งปันข้อมูลแบบทันทีทันใด (Real-time) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่ในโกดัง รวมถึงระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า และการจัดการด้านแผนการผลิตสินค้า ให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถทำได้กับคู่ค้าหลายๆ รายได้ในเวลาเดียวกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทเอง และคู่ค้าต่างๆ ในระบบซัพพลายเชน โดยพวกเขาสามารถลดค่าใช้จ่าย ได้จากการลดจำนวนสินค้าคงคลังให้พอเหมาะต่อความต้องการของตลาด และสามารถดำเนินธุรกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทหรือองค์กร ในการตรวจสอบว่า การนำเว็บแอพพิเคชันมาใช้แทนระบบ EDI จะช่วยให้บริษัทได้รับประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นจริงหรือไม่ ก็คือ การวิเคราะห์ในรายละเอียดของสภาวะการส่งผ่านข้อมูลของบริษัท และทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของรายงานค่าใช้จ่ายต่อประโยชน์

บริษัทที่มีงบประมาณเพียงพอ และไม่ต้องการที่จะต้องพึ่งพาการส่งรับข้อมูลผ่านเครือข่าย VAN ไม่ว่าจะมีระบบ EDI ใช้อยู่หรือไม่ก็ตาม บริษัทเหล่านี้ยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งในการใช้ระบบ Interenterprise Application Integration (IAI) ซึ่งใช้ภาษา XML และ ภาษาจาวา รวมถึงการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล และเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูล ที่ทำให้การสื่อสารระหว่างระบบต่างๆ สามารถทำได้โดยไม่ขึ้นกับประเภทของแอพพิเคชัน และต้นแหล่งของข้อมูล

สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่อาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับ IAI หรือแอพพิเคชันด้านซัพพลายเชนอื่นๆ หรือบริษัทที่ไม่มีทรัพยากรบุคคล ที่มีความชำนาญด้านเทคนิค ในการที่จะพัฒนาระบบขึ้นใช้เองภายในองค์กร ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การใช้บริการจากผู้ให้บริการด้านเว็บแอพพิเคชัน สำหรับระบบซัพพลายเชน

บริษัทที่ได้ลงทุนในการทำ EDI มาแล้วก็เป็นการยากที่จะหยุดใช้มัน แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ หรือแม้แต่อาจจะมีคำถามว่า ระบบที่ใช้อยู่ยังสามารถทำงานได้ดี ทำไมต้องมีการแก้ไขมันในหลายๆ กรณี การเปลี่ยนจากระบบที่ใช้มากันอยู่แต่เดิม สู่สิ่งใหม่ๆ มักจะมีการลงทุนที่สูง แต่อย่างไรก็ดี บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ก็ควรที่จะไม่มองข้ามหรือละเลยในการศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ และท่านอาจจะค้นพบถึงช่วงเวลาอันเหมาะสม ในการปรับเปลื่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ อย่างแอพพิเคชันที่ใช้ภาษา XML ในอันที่จะลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้

ในปัจจุบันนี้ได้มีหลายบริษัทได้เริ่มนำแอพพิเคชันที่ใช้ภาษา XML มาใช้ควบคู่ไปกับระบบ EDI ที่มีอยู่เดิม และผลที่ได้รับก็คือ บริษัทสามารถส่งรับข้อมูลจำนวนมากผ่านระบบ EDI เดิม และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านแอพพิเคชัน XML รวมถึงการเชื่อมต่อระบบเข้ากับคู่ค้ารายใหม่ๆ ที่ใช้แอพพิเคชันแบบ XML ได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยใช้แอพพิเคชันแบบ XML คงจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง กว่าจะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงจาก EDI มาเป็นเว็บแอพพิเคชันขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม โดยอาจจะคาดเดาได้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีเพียง 60 เปอร์เซนต์ของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และไฮเทคที่จะนำเว็บแอพพิเคชันมาใช้ ทั้งนี้เนื่องจากการทำธุรกิจของพวกเขา ต้องอาศัยคู่ค้า และระบบซัพพลายเชนอย่างมาก โดยเหตุผลหลักก็คือ การลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อม สู่การทำธุรกิจในยุคอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

แนวโน้มใหม่สำหรับผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต คือจะต้องดูที่ต้นทุนความเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership, TCO) เป็นสำคัญ กล่าวคือระบบสารสนเทศที่มีอยู่นั้น ควรที่จะสื่อสารได้ทั้งข้อมูล เสียงและวีดีโอในเครือข่ายระบบเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็น ของผู้บริหารหลายท่านพบว่า กว่า 90 เปอร์เซนต์ของผู้บริหาร ต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของตน และอีก 70 เปอร์เซนต์ ต้องการที่จะควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท

สิ่งหนึ่งที่กำลังมาแรงในทุกภาคธุรกิจก็คือ การมุ่งเน้นไปที่งานบริการลูกค้า ซึ่งจะเห็นได้จากเทคโนโลยีด้าน CRM (Customer Relation Management) และความตื่นตัวทางด้านศูนย์บริการลูกค้า ที่ออกมาในรูปของฮอตไลน์ และคอลล์เซ็นเตอร์ หรือแม้กระทั่งเลขหมายโทรฟรีที่ขึ้นต้นด้วย 1-800 ก็เริ่มมีใช้กันมากยิ่งขึ้นในบ้านเราเช่นกัน

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและสภาวะตลาด ที่มีการแข่งขันสูงอย่างในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริหารหลายราย ได้หันมาใช้กลยุทธ์การเอาท์ซอร์สกันมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะควบคุมและลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งยังคงคุณภาพของสินค้าไว้ โดยการทำในสิ่งที่ตนเองถนัด และเอาท์ซอร์สการผลิตในส่วนที่ไม่ถนัด หรือไม่มีทีมงานที่เชี่ยวชาญออกไปให้กับบริษัทภายนอก

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิต ได้เป็นแรงผลักดันให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวทั้งด้านการกลยุทธ์ทางธุรกิจ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ไม่ว่าจะเป็นการย่นย่อเวลาในการผลิตให้รวดเร็ว หรือการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาสินค้า

การปรับตัวขององค์กรนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของการทำธุรกิจ ไม่ใช่จุดสิ้นสุด และเราก็ต้องรู้ด้วยว่า กำลังเดินทางไปสู่จุดหมายใด และจะต้องทำอย่างไรถึงจะไปให้ถึงจุดหมายนั้น

การปรับองค์กรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ในอันที่จะปรับปรุง และพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ในส่วนธุรกิจหลัก และกระบวนการในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ซึ่งโครงข่ายไอพีได้พิสูจน์ และเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด ในการปรับการทำงานขององค์กร ทั้งนี้องค์กรต่างๆ สามารถที่จะนำเอาเทคโนโลยีด้านไอพีต่างๆ อย่างเช่นเครือข่ายไร้สาย, โทรศัพท์ไอพี และไอพีวีดีโอ ซึ่งสามารถรองรับการใช้งาน และแอพพิเคชันต่างๆ สำหรับการทำพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์, ระบบบริการลูกค้า, อีเลิร์นนิ่ง, ระบบสื่อสารองค์กร และระบบซัพพลายเชน อัตโนมัติ โดยบริษัทที่ได้มีการพัฒนา และปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ก็จะได้เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนในประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการทำงาน รวมไปถึงเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย

อีกกระแสหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตที่รับสั่งทำตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า build-to-order model โดยจะสามารถทำผลกำไรได้อย่างมากต่องานหนึ่งชิ้น หรือจะเป็นการรวมระบบฐานข้อมูลต่างๆ ในระบบซัพพลายเชนตั้งแต่ข้อมูลการสั่งซื้อ จำนวนวัตถุดิบ รายการสินค้าในกระบวนการผลิต ไปจนถึงจำนวนสินค้าคงคลังที่พร้อมส่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะสามารถทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และที่สำคัญที่สุดก็คือ บริษัทสามารถควบคุมจำนวนสินค้าคงคลัง ให้พอดีกับความต้องการของตลาดได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่มีสินค้าค้างอยู่ในคลังสินค้าจำนวนมากเป็นเวลานาน ก็เท่ากับเงินทุนที่ไม่มีการไหลเวียน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อสถานะการเงินของบริษัท และนี่เป็นที่มาของเว็บแอพพิเคชัน ที่เชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบริษัทภายนอกที่รับงานเอาท์ซอร์สไว้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ ตั้งแต่แผนการผลิตที่ถูกต้องแม่นยำ และเหมาะสมกับความต้องการของตลาด

ความท้าทายใหม่ๆ สำหรับการเอาท์ซอร์สการผลิตก็คือ ความล่าช้าของข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารภายใน และระหว่างองค์กร ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด หรือการวางแผนการผลิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงได้มีโซลูชันใหม่ ที่เรียกว่าเครือข่ายข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Information Network) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริหาร ในการวางแผนและตัดสินใจ รวมถึงกระบวนการจัดการแบบออนไลน์ ที่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างฉับไว และมีความคล่องตัวต่อสภาวะตลาด

ก้าวย่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในยุคใหม่นี้ จำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวตั้งแต่การรวมระบบต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกัน โดยใช้มาตรฐานแบบเปิด เพื่อให้สะดวกในการเชื่อมต่อ และขยายระบบ และที่สำคัญก็คือ ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าข้อมูลต่างๆ ของบริษัทนั้นถูกส่งผ่านระบบเครือข่ายได้อย่างปลอดภัย

เทคโนโลยีเครือข่ายในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นแรงผลักดันในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน, การเล่น และการเรียนรู้ สำหรับผู้บริหารที่มองโลกในแง่ดีสักหน่อย ก็คงเห็นด้วยว่า การนำเอาเทคโนโลยีด้านเครือข่าย และสารสนเทศมาใช้งานนั้น สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน รวมไปถึงการยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรทั่วโลก ให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดช่องว่างในความเหลี่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

ในปี 2546 นี้เราเริ่มได้เห็นการเพิ่มขีดความสามารถ และความชาญฉลาดเข้าไปในระบบเครือข่ายอย่างมากมาย และผลที่ตามมาก็คือ โครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารที่ได้รับการปรับปรุงในประสิทธิภาพ สำหรับการสื่อสารทั้งทางด้าน เสียง ภาพ และข้อมูลในระบบเครือข่าย หรือถ้าจะพูดให้ง่ายเข้าก็อาจจะเรียกสั้นๆ ได้ว่าเป็นระบบเครือข่ายสารสนเทศอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นระบบสารสนเทศที่ประกอบไปด้วยความคล่องตัว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถปรับแต่ง หรือเพิ่มขยายได้โดยทุกส่วนขององค์ประกอบที่ได้กล่าวมานั้น สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเชิงธุรกิจแล้วนั้น จะมีผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายขององค์กรธุรกิจ จากการที่ระบบเครือข่ายสารสนเทศได้เข้ามาผลักดันให้องค์กร ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และย่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งหมายความว่าองค์กรนั้นๆ จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ตามสภาวะการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้ย่นย่อโลกของเราให้เล็กลง อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้พบเห็นวิวัฒนาการด้านเครือข่าย และมุมมองของผู้บริหารที่มีต่อโครงสร้างเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศ ที่สามารถแยกแยะได้เป็นสี่ช่วงเวลาด้วยกัน โดยในยุคแรกนั้น องค์กรส่วนมากมักจะลงทุนในการสร้างระบบเครือข่าย โดยยึดหลักในการเลือกสรรว่า ต้องเป็นของที่ดีทีสุดในตลาดเท่านั้น และบ่อยครั้งที่มักจะลงเอยด้วยการเป็นผู้ติดตั้งระบบ (System Integrators) ไปโดยปริยาย ทั้งนี้เนื่องจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ที่องค์กรได้เลือกมา ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมากในการติดตั้งเชื่อมต่อ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นมาก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ในยุคที่สอง หลังจากที่ได้มีบทเรียนจากยุคแรกว่า แนวคิดที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ดีที่สุดในตลาดนั้น จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากเมื่อนำมารวมเข้าด้วยกัน และนำไปสู่ความล่าช้า และปัญหามากมายจึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีและแนวคิด ในอันที่จะมองระบบเครือข่ายสารสนเทศโดยภาพรวม และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างครบทั้งระบบ (End-to-End Solution) ซึ่งจะประกอบไปด้วยสินค้าจากผู้ผลิตเพียง 2-3 ราย และในบางกรณีก็อาจจะเลือกใช้สินค้าจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เพียงรายเดียวเลยก็มี

ส่วนในยุคที่สาม สำหรับวิวัฒนาการด้านโครงสร้างระบบเครือข่ายโดยภาพรวมนั้น ได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง โดยเป็นผลสืบเนื่องจากวิวัฒนาการในสองขั้นแรก ที่ทำให้มีการสร้างระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ซึ่งได้นำมาซึ่งโครงสร้างเครือข่าย ที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน หรือที่เรียกกันว่า “Network of Networks” โดยจะ มีการเชื่อมต่อจากโครงข่ายผู้ให้บริการ เข้าสู่โครงข่ายขององค์กร และอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ตลอดจนระบบเคเบิล และเทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดโครงข่ายสื่อสารที่รวมทุกระบบ เข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยผู้บริหารสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่า จะเลือกใช้โครงสร้างของระบบใดๆ ก็ได้ในการเชื่อมต่อและนำมาใช้งาน

และแล้วก็มาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่สี่ของวิวัฒนาการด้านเครือข่าย ที่จะมีการเพิ่มขีดความสามารถ และความชาญฉลาดเข้าไปในระบบเครือข่าย โดยได้รวมการสื่อสารทั้งภาพ เสียงและข้อมูลเข้าไว้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการสื่อสารหลายๆ อย่างในระบบเดียวกันได้ จึงทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องใช้ระบบที่แยกจากกันซึ่งกว่า 90 เปอร์เซนต์นั้น จะประกอบไปด้วยสองระบบคือ ระบบโทรศัพท์ที่รองรับการสื่อสารด้านเสียง และระบบสื่อสารข้อมูล โดยที่องค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นสองเท่า ไปกับการสร้างและดูแลรักษาระบบต่างๆ ที่แยกจากกัน ตลอดจนบุคลากรที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่สองกลุ่มในการดูแล และบำรุงรักษาระบบ

ทีนี้ถ้าลองหันมาดูความจำเป็นในด้านการบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจกันดูบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ หรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ข้อมูลต่างๆ ขององค์กรมีความสำคัญอย่างมาก และถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด สำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารและองค์กรที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ จากการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ชาญฉลาด ในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะได้พบกับความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสให้กับองค์กร ให้มีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ในยุคเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ ที่มีการแข่งขันกันสูง และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยมากแล้ววิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็มักจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรและ รายได้ให้กับองค์กร ในขณะที่ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ซึ่งโดยมากก็จะพยายามลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจากโจทย์ที่ได้มาในขั้นต้นนี้ ระบบเครือข่ายสารสนเทศ จะมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้พนักงานในทุกระดับชั้น สามารถแปลงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้เป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติได้ อาทิเช่น การนำเอาระบบเว็บแอพพิเคชันเข้ามาใช้งานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบุคคล ด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งงานด้านการสื่อสาร การตลาดและการเชื่อมต่อระบบด้านเสียง และข้อมูลเข้าด้วยกันจากนั้น ก็อาจจะพัฒนาไปสู่แนวคิดที่ว่า พนักงานทุกคนควรที่จะสามารถทำงานได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบเครือข่ายสารสนเทศ อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ในตอนท้ายนี้ก็คือ ระบบเครือข่ายสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพนั้นโดยมาก มักจะถูกติดตั้งไว้เฉพาะที่สำนักงานใหญ่ในส่วนกลางเท่านั้น ส่วนสำนักงานสาขาก็มักจะถูกมองข้ามไป ซึ่งที่จริงแล้ว องค์กรจะเสียประโยชน์อย่างมาก ถ้าระบบในสำนักงานสาขาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งจะทำให้พนักงานนั้นทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการกระจายเทคโนโลยีออกไปจากส่วนกลาง สู่สำนักงานสาขา สำหรับการเข้าถึงข้อมูล จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามและทั้งหมดนี้คือ แนวคิดและกลยุทธ์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่นำมาฝากไว้